ปรัชญา
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางโดยการจัดการเรียนรู้ที่ใช้กิจกรรมหรือการปฏิบัติ (Active Learning) ที่หลากหลายเพื่อให้เป็นมหาบัณฑิตด้านการจัดการนวัตกรรมดิจิทัลที่มีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงควบคู่คุณธรรมและจริยธรรมเพื่อพัฒนาภาคใต้และประเทศ
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักสูตรนี้ได้ดำเนินตามแนวคิด Outcome-Based Education โดยมีเป้าประสงค์เพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่สามารถบูรณาการองค์ความรู้ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล จัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัลโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นฐานเพื่อปรับเปลี่ยนองค์กร/สถานประกอบการในสังคมพหุวัฒนธรรมให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลได้
ความสำคัญ/หลักการและเหตุผล
จากผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในด้าน เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทำให้ประเทศไทยได้ขยับฐานะขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นสูง (Upper Middle Income Country) แต่ในทางกลับกันความสามารถในการแข่งขันน้อยลง เนื่องจากขาดการส่งเสริมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมในระดับก้าวหน้า อีกทั้งยังขาดบุคลากรด้านการวิจัยและบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับภูมิภาคหรือชุมชนต่าง ๆ เพราะการส่งเสริมและพัฒนาเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวงเท่านั้น หลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหาดังกล่าว ดังต่อไปนี้
(1) ตอบสนองความต้องการของชุมชน โดยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มี ความก้าวหน้า ทันสมัย พอเพียง และเหมาะสมต่อการนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ไขปัญหางานหรือพัฒนาการบริหารจัดการ ซึ่งจัดว่ามีความหลากหลายและมีความเป็นพลวัตรสูงตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ โดยช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนางานวิจัยเพื่อประโยชน์ต่อวงการวิชาการหรือวงการอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
(2) ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ โดยช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนางานวิจัยเพื่อประโยชน์ต่อวงการวิชาการหรือวงการอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
(3) ตอบสนองการแก้ปัญหาความขาดแคลนของบุคลากรด้านการวิจัยและในวิชาชีพทางด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับปริญญาโท ที่มีความสามารถทางวิชาการควบคู่กับการมีคุณธรรมและจริยธรรม
หลักสูตรนี้เป็นการบูรณาการศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิทยาการจัดการ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่ทันสมัย พอเพียง และเหมาะสมต่อการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหางาน หรือพัฒนาการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งโดยทั่วไปถือว่ามีความหลากหลายและมีความเป็นพลวัตรสูง อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งวงการวิชาการและวงการอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะกับของประเทศไทยแต่ยังรวมถึงประชาคมอาเซียนอีกด้วย